ประวัติความเป็นมา
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ดำเนินการจัดตั้งกองกำลัง ติดอาวุธ เพื่อมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศไทย และได้เริ่มใช้ กองกำลังติดอาวุธเข้าสังหาร เข่นฆ่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตั้งแต่ ๗ ส.ค. ๐๘ เป็นต้นมา โดยประกาศให้วันนี้ เป็น “ วันเสียงปืนแตก”และพยายามที่จะปลุกระดมคนหนุ่มสาวเข้าร่วมอุดมการณ์ และชักจูงให้กลุ่มประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านห่างไกล เป็นแนวร่วมให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนกลายเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย (ผกค.)
ทางราชการ ได้ส่งกำลังเข้าดำเนินการปราบปรามจนสงบเรียบร้อยและเมื่อเจ้าหน้าที่ถอนกำลังกลับ ฝ่าย ผกค. ก็จะกลับเข้าไปมีอิทธิพลบีบบังคับ ขู่เข็น และสังหาร ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำท้องถิ่น ทำให้ราษฎรไม่พอใจ พร้อมใจรวมตัวผนึกกำลังขึ้นเป็นกลุ่มราษฎรอาสาสมัคร ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อร่วมกันต่อต้าน ผกค. โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อต่อต้านและป้องกันบรรเทาภัยพิบัติและการก่อความไม่สงบเรียบร้อยทุกรูปแบบ ตลอดจนการร่วมกันอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง มีการรวมกลุ่มอาสาสมัคร รวมหลายกลุ่ม และจากการที่มีกลุ่มอาสาสมัครหลายพวกหลายกลุ่ม ทำให้เกิดความสับสน
4 ก.ย. 21 รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย ไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ.2521 เพื่อถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยยกเลิกระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง โครงการ หรือแผนงานอื่นใด ที่เกี่ยวข้อง กับการดำเนินกิจการของกลุ่มอาสาสมัคร ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวง มหาดไทย กระทรวงกลาโหม กอ.รมน. จังหวัด รัฐวิสาหกิจ หรือส่วนราชการ อื่นใดที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน เข้าเป็นรูปแบบอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า “ไทยอาสาป้องกันชาติ” และให้เรียกชื่อย่อว่า ทสปช. ลูกเสือชาวบ้าน, กิจการอาสารักษาดินแดน และโครงการ อพป.แห่งชาติ
วัตถุประสงค์เพื่อ
- ต่อต้านและป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
- ต่อต้านและป้องกันการก่อการไม่สงบเรียบร้อยทุกรูปแบบ
- ร่วมอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในทุกด้าน
ประเภท ทสปช.มี 4 ประเภท
- ทสปช.ป้องกันตนเอง
- ทสปช.คุ้มครองพัฒนา
- ทสปช.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
- ทสปช.ในทะเล (กองทัพเรือ)
การจัดตั้งและการบังคับบัญชา
- กอ.รมน.เป็นศูนย์ ทสปช.กลาง
- กอ.รมน.ภาค เป็นศูนย์ ทสปช.ภาค
- กอ.รมน.จว. เป็นศูนย์ ทสปช.จว.
- กอ.รมน.อำเภอ เป็นศูนย์ ทสปช.อำเภอ
- หมวด ทสปช.
- หมู่ ทสปช.
ต่อมาในปี 2535 สถานการณ์การก่อการร้าย และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ยุติบทบาทลง รัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พรบ. ว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 โครงการ ทสปช.จึงไม่มีงบประมาณให้การสนับสนุน ในการดำเนินการจัดกิจกรรมและการฝึกอบรมจัดตั้งสมาชิก ทสปช.เพิ่มเติม ประกอบกับสมาชิก ทสปช. ที่จัดตั้งไว้เดิมเป็นจำนวนมากนั้น ได้ชราภาพและเสียชีวิต ไม่เอื้ออำนวยที่จะเคลื่อนไหว หรือร่วมกิจกรรมด้านความมั่นคงของชาติ และภัยคุกคามความมั่นคงได้เปลี่ยนรูปแบบไป จึงได้ยกเลิกการเคลื่อนไหวของสมาชิกทสปช. คงมีสภาพเพียงการจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์และการเทิดพระเกียรติสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อให้การเคลื่อนไหว และการจัดกิจกรรม สมาชิก ทสปช.คงมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง
กอ.รมน. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะยังคงสภาพของสมาชิก ทสปช. ต่อไป แต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากทางราชการ
2 ม.ค. 23 นายเทพ ฑิมาตฤกะ อดีต ผอ.ศูนย์ ทสปช. อ.สังขะ/ นายอำเภอสังขะ จ.สุรินทร์ ได้จดทะเบียนมูลนิธิ “ไทยอาสาป้องกันชาติ” และได้มอบหมายให้กับศูนย์ ทสปช.กลาง (กอ.รมน.ส่วนกลาง) รับดำเนินการต่อ
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ทสปช. เพื่อ
- สงเคราะห์สมาชิก ทสปช.และครอบครัว
- ดำเนินกิจกรรมบำรุงขวัญแก่สมาชิก ทสปช. และกลุ่มมวลชนอื่น ๆ ของ กอ.รมน.ที่มีลักษณะคล้ายกัน
- จัดกิจการสาธารณประโยชน์ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์
- จัดกิจกรรมวัน ทสปช. ในวันที่ 4 มี.ค. ของทุกปี เพื่อรำลึกถึง วีรกรรม ท้าวสุรนารี
- ฝึกอบรมจัดตั้งสมาชิก ทสปช.เพื่อทดแทนผู้สูงอายุ ชราภาพ และเสียชีวิตของศูนย์ ทสปช.กลาง และศูนย์ ทสปช.ภาค
งบประมาณรายได้ของมูลนิธิ ทสปช.
- ได้จากเงินดอกผลของเงินฝากประจำ
- ได้จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา
- ได้จากการจัดงานสาธารณกุศลเพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิ
แผนงานกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก ทสปช.
- การฝึกอบรมจัดตั้ง สมาชิก ทสปช.ของศูนย์ ทสปช.กลาง ปีละ 2 รุ่น
- การฝึกอบรมจัดตั้งสมาชิก ทสปช.ของศูนย์ ทสปช.ภาค จำนวน 4 รุ่น (ศูนย์ ทสปช.ภาคละ 1)
- กิจกรรม ทสปช.และการพัฒนาสัมพันธ์ผู้นำสมาชิก ทสปช. และ มวลชน กอ.รมน.
- การพัฒนาสัมพันธ์ของผู้นำสมาชิก ทสปช.ในทะเล
คณะกรรมการมูลนิธิ ทสปช. ปัจจุบันมี 28 คน